เทคนิคการใช้ Flash ขั้นเซียน (ตอนที่ 1)
หากต้องการยกระดับฝีมือในการใช้ Flash แล้ว บทความนี้จะสามารถช่วยคุณได้แน่นอน
หากต้องการยกระดับฝีมือในการใช้ Flash แล้ว บทความนี้จะสามารถช่วยคุณได้แน่นอน
ในการสร้างเว็บไซต์ที่มีแอนิเมชันสดใส เสียงประกอบ และการทำงานแบบโต้ตอบไปมาที่มีลูกเล่นมากมายนั้น คงจะไม่มีใครอยากมองข้าม Macromedia Flash ไปแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตอนนี้คุณสามารถใส่เพลง MP3 ภาพเคลื่อนไหว และการ์ตูนทั้งเรื่อง หรือแม้กระทั่ง Actionscript ลงในเว็บเพจของคุณได้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ Flash สามารถกลายเป็นโปรแกรมยอดนิยมสำหรับผู้ใช้ทั้งระดับเบื้องต้น และมืออาชีพ
ด้วยการที่โปรแกรมมีความสามารถและซับซ้อนสูงนี้เอง ทำให้คุณต้องค่อยๆ เรียนรู้และทำความเข้าใจ ซึ่งก็มีหลายวิธี แต่วิธีที่สะดวกที่สุดคือใช้ Tutorial ที่มีอยู่ในโปรแกรมเอง ลองเข้าไปที่เมนู Help แล้วเลือกบทเรียน จากนั้นเข้าไปศึกษาบทเรียนให้ครบทั้ง 8 บท แต่หากคุณยังไม่เคยใช้ Flash ก็สามารถที่จะแวะเข้าไปที่เว็บไซต์ของทางมาโครมีเดีย และดาวน์โหลดโปรแกรมทดลองใช้ฟรี 30 วันได้ที่ http://www.macromedia.com/software/flash/trial/
บทเรียนต่างๆ ที่คุณควรเข้าไปศึกษาเป็นอย่างยิ่งนั้น (และเราจะสันนิษฐานว่าคุณได้เข้าไปแล้ว) ได้แนะนำถึงคำสั่งในการใช้ Flash เบื้องต้น แต่ไม่ได้สอนถึงวิธีทำแบนเนอร์ ภาพเคลื่อนไหวระหว่างโหลด (Preloaders) ปุ่มที่คลิ้กเพื่อไปยังเว็บเพจ อื่นๆ หรือลูกเล่นที่ล้ำหน้ากว่านั้นเลย และที่สำคัญ บทเรียนเหล่านั้นไม่ได้มีการแนะนำวิธีสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสมกับผู้ใช้แต่ละคนด้วย ด้วยเหตุนี้ทำให้เราต้องนำเสนอบทความนี้แก่คุณ

ภาพที่ 1
..... ภาพที่ 1 : จากเดิมแท็บคำสั่งต่างๆ จะกระจายอยู่ทั่วทั้งพาแนลทั้งสี่ แต่พอลากแท็บทั้งหมดมาไว้ที่พาแนลเดียวกัน ก็ทำให้การเปลี่ยนค่า และการเลือกเครื่องมือต่างๆ สะดวกสบายยิ่งขึ้น .....
ปรับแต่งสภาพการทำงานใหม่
ใน Flash 5 จะมีพาแนล (Panel) ในการดูหรือปรับเปลี่ยนแอตทริบิวต์ของไอเท็มหรือออบเจ็กต์ ที่เยอะมากเสียจนผู้ใช้ระดับเบื้องต้น รู้สึกสับสนกับไดอะล็อกที่แบ่งเป็นแท็บต่างๆ มากมาย แม้กระทั่งผู้ใช้มืออาชีพบางคนยังรู้สึกอย่างนั้นเช่นกัน ดังนั้น คุณควรใช้เทคนิคในการจัดรูปแบบการทำงานใหม่ ด้วยการรวมพาแนลย่อยทั้งหลายเข้าเป็น “Superpanel” (ภาพที่ 1) ดังขั้นตอนต่อไปนี้
ขั้นแรก ให้ขยายพาแนลใดพาแนลหนึ่ง โดยคลิ้กค้างแล้วลากที่ขอบซ้ายหรือขวา จากนั้น ลากแท็บจากพาแนลอื่นมาจ่อที่แถวของแท็บในพาแนลที่คุณขยายพื้นที่รองรับไว้แล้ว ปล่อยปุ่มที่กดเมาส์ แท็บที่ลากเข้ามาจะผนวกเข้าไปอยู่ในพาแนลนี้ และเมื่อแท็บสุดท้ายถูกย้ายไปแล้ว พาแนลที่ว่างเปล่าก็จะหายไป พอคุณจัดการย้ายแท็บเสร็จเรียบร้อย ให้เซฟการจัดวางรูปแบบใหม่โดยเลือก Save Panel Layout จากเมนู Window พร้อมตั้งชื่อให้กับรูปแบบใหม่นี้ ซึ่งขณะที่คุณใช้ Flash คุณสามารถเลือกสลับรูปแบบการทำงานระหว่างแบบดั้งเดิม กับแบบที่คุณสร้างขึ้นใหม่ได้จากคำสั่ง Panel Sets ในเมนู Window
ส่วน GUI ที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่นิยมปรับแต่งอีกส่วนหนึ่งคือ การวางตำแหน่งไทม์ไลน์ และระบบการเลือกเฟรม เนื่องจากใน Flash 5 ได้เสนอหนทางในการเลือกแล้วลากเฟรมหรือกลุ่มของเฟรมในไทม์ไลน์แบบใหม่ ซึ่งเป็นแบบที่ผู้ใช้ Flash เวอร์ชันก่อนหน้านี้ยอมรับไม่ได้ ในการเปลี่ยนเป็นรูปแบบเดิมนั้น ให้คุณเข้าไปที่เมนู Edit แล้วเลือก Preferences จากนั้นให้กาเครื่องหมายที่เช็กบ็อกซ์ Flash 4 Selection Style และ Flash 4 Frame Drawing ลองคิดดูสิ ขนาดใน Flash 6 Beta ยังเปลี่ยนกลับไปใช้วิธีเก่าเลย (Flash เวอร์ชันใหม่ที่มีชื่อว่า FlashMX ควรจะออกวางจำหน่ายตอนที่คุณอ่าน บทความนี้แล้ว) แล้วอย่างนี้คุณจะไม่อยากลองบ้างเหรอ?
หากคุณไม่ได้มีหน้าจอมอนิเตอร์ใหญ่ๆ คุณก็สามารถเรียกคืนที่ว่างในการทำงานกลับมาได้เหมือนกัน โดยการลากไทม์ไลน์ทั้งหมดจากหน้าต่างโปรแกรมหลักออกไปที่อื่นได้ และถ้าคุณตัดสินใจที่จะลองทำขั้นตอนนี้ ก็ควรไปกาเครื่องหมายที่เช็กบ็อกซ์ Disable Timeline Docking ในไดอะล็อกบ็อกซ์ Preferences ด้วย
กระโดดไปยังเว็บเพจอื่น
ในบทเรียนที่ 6 ของ Tutorial ได้อธิบายถึงวิธีการสร้างรูปภาพ 3 แบบในสถานะ Up, Over และ Down ของปุ่มแบบแอนิเมชัน แต่บทเรียนนี้กลับมองข้ามประเด็นบางอย่างที่ผู้ใช้ทั่วไปนิยมทำ เช่น โดยปกติคุณคงไม่ได้กำหนดแอ็กชัน ระหว่างที่กำลังวาดปุ่มในแต่ละสถานะ แต่จะกำหนดแอ็กชันให้ปุ่มก็ต่อเมื่อนำปุ่มที่วาดแล้วมาวางไว้ที่ตัว Movie ในตำแหน่งที่ต้องการแล้วต่างหาก ดังนั้น ขั้นตอนในการสร้างปุ่มสำหรับพวกที่ยังไม่ทราบควรเป็นดังนี้
1. วาดปุ่มขึ้นมา (หรือเลือกปุ่มที่มีอยู่แล้วในไลบรารี)
2. สร้างคีย์เฟรมที่จำเป็น
3. ลากปุ่มมายังตำแหน่งที่ต้องการ
4. คลิ้กขวาที่ปุ่มที่วาดขึ้น แล้วเลือก Actions เพื่อกำหนดแอ็กชันให้ปุ่มอีกที
นอกจากนี้ บทเรียนต่างๆ ยังอธิบายถึงวิธีการสร้างปุ่มเพื่อใช้กระโดดไปยัง Movie อีกไฟล์หนึ่ง แต่โอกาสของคุณส่วนใหญ่มักจะต้องการปุ่มที่ใช้กระโดดไปยังเว็บเพจอื่นๆ มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นภายในไซต์ของคุณหรือที่ไซต์อื่น... ต่อไปนี้คือวิธีทำ เริ่มแรกให้คลิ้กขวาที่ปุ่ม (ที่เราจัดตำแหน่งบน Movie ไว้แล้ว) แล้วเลือก Actions จากนั้นไปที่เมนู “+” แล้วเลือก Get URL จากเมนูย่อย Basic Actions ซึ่งจะทำให้ Flash เพิ่มโค้ดในไดอะล็อก Object Actions โดยอัตโนมัติ ต่อไปให้ใส่ URL ที่ต้องการจะกระโดดไปหาในช่อง URL กรณีที่เว็บเพจอยู่ภายในไซต์ของคุณเอง ให้ใส่แค่ชื่อไฟล์ เช่น index2.html แต่ถ้าต้องการเรียกดูเว็บเพจข้ามเว็บไซต์ ก็ให้ใส่ URL แบบเต็มยศแทน เช่น http://www.pcmag.com/
โดยปกติ คุณอาจต้องการโหลดเว็บเพจใหม่ในหน้าต่างเดียวกับที่ปุ่มอยู่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ คุณก็ไม่จำเป็นต้องปรับแต่งอะไรอีก แต่หากต้องการให้โหลดเว็บเพจในหน้าต่างใหม่ หรือคนละเฟรม (ในกรณีที่เว็บเพจคุณใช้เฟรมอยู่) ก็คงต้องปรับอะไรเพิ่มเติมนิดหน่อย โดย ในการทำให้หน้าต่างบราวเซอร์ใหม่ปรากฏ ให้คุณเลือก _blank จากฟิลด์ Window หรือถ้าต้องการเปิดเว็บเพจในอีกเฟรมหนึ่ง ก็เพียงพิมพ์ชื่อเฟรมลงไปแทน เช่น _navbar หรือ _content และแน่นอน หากเว็บไซต์ของคุณใช้เฟรม การทำรายชื่อเฟรมทั้งหมดที่มีจะช่วยคุณได้มากทีเดียว
ข้อมูลจาก : http://www.arip.co.th
โดย Warren Ernst : ศรัณย์ หงสกุล
|